บางคนอาจจะคิดว่าการได้มาใช้ชีวิตอยู่ในเมืองหลวง ได้ทำงานที่แต่งตัวดีๆ มีคนนับหน้าถือตาเป็นสิ่งที่สร้างความสุขให้กับตนเองและครอบครัวได้ดีที่สุด แต่ใครจะไปรู้ว่าแท้จริงแล้วก็ยังมีหลายคนที่เลือกจะหันหลังให้กับความสุขจอมปลอมแบบนี้และหันกลับมาใช้ชีวิตในสิ่งที่มนุษย์ควรจะเป็นนั่นก็คือการอยู่กับธรรมชาติและการเกษตรที่ซึ่งหล่อเลี้ยงชีวิตของมนุษย์มาอย่างช้านานเช่นเดียวกับ ดร. เกริก มีมุ่งกิจ
ก่อนที่จะมาทำความรู้จักกับโครงการ คนกล้าฯ มาเยี่ยมถึงบ้าน ที่จัดตั้งขึ้นโดย ดร. เกริก มีมุ่งกิจ อยากจะให้ทุกคนได้รู้จักกับโครงการเริ่มต้นของแนวทางนี้นั่นก็คือ โครงการ คนกล้าคืนถิ่น ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดย ดร. เกริก มีมุ่งกิจ ผู้ที่ก่อตั้งวนเกษตรเขาฉกรรจ์ จังหวัดสระแก้ว แต่สิ่งที่ ลุงเกริก คนนี้คิดอยู่เสมอก็คือ เขาเองไม่ใช่คนกล้าแต่เป็นครูที่สอนคนกล้าให้กลับบ้าน ด้วยประวัติของเขานั้น ลุงเกริก ยอมที่จะหันหลังให้กับการทำงานในกรุงเทพฯ ที่เงินเดือนของเขาเหยียบแสนบาท ในปี พ.ศ. 2550 และคิดว่าจะเริ่มทำวนเกษตรหรือสวนป่าในช่วงเวลาต่อจากนั้น และเริ่มต้นด้วยเงินในกระเป๋าเพียง 2,800 บาท พร้อมกับพื้นที่อีก 99 ไร่ ที่เป็นพื้นที่มรดกของพ่อแม่ เริ่มต้นของการหารายได้ก็ไปนำกิ่งไม้ในป่ามาเผาทำเป็นถ่าน กลั่นน้ำส้มควันไปขาย เดือนแรกที่เริ่มทำสามารถเผาถ่านได้ 200 กระสอบ และทำน้ำส้มควันไม้ได้ถึง 400 ลิตร เมื่อนำไปขายก็ได้เงินอยู่หลายหมื่นบาททีเดียว และจากนั้นมาก็ได้เริ่มทำการเกษตรแบบผสมผสานเป็นแบบนี้เรื่อยมา และด้วยความรู้สึกที่ว่าจริงๆ แล้วเมืองไทยเป็นเมืองเกษตรแต่คนที่ทำการเกษตรแบบชาญฉลาดจริงๆ กลับยังไม่มีเกิดขึ้นในประเทศไทย มันเลยเป็นแนวทางที่ลุงเกริก อยากจะแนะนำความรู้ความสามารถที่มีให้กับคนที่ทำการเกษตรทุกๆ คนได้มีแนวทางการทำที่สร้างรายได้และหาเลี้ยงชีพให้กับตนเองและครอบครัวได้อย่างยั่งยืนโดยที่ไม่ต้องเหนื่อยยากลำบากเหมือนที่ผ่านๆ มา โครงการ คนกล้าฯ มาเยี่ยมถึงบ้าน จึงได้เกิดขึ้นจากจุดประสงค์ตรงนี้
ที่สำคัญนอกจากเรื่องของคนตามชนบทที่ควรจะต้องทำการเกษตรอย่างมีหลักการไม่การทำตามมีตามเกิดเหมือนในอดีตที่ผ่านมาแล้ว รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จำเป็นที่จะต้องเข้าไปช่วยสนับสนุนในการทำเกษตรด้วยเช่นเดียวกัน เพราะต่อให้จะมีคนทำการเกษตรแบบชาญฉลาดแค่ไหน แต่ถ้าหากขาดปัจจัยทางด้านการสนับสนุน ก็ไม่สามารถที่จะพัฒนาต่อไปได้อย่างยั่งยืน ลุงเกริกจึงหวังว่าเมื่อเขาไดให้ความรู้ด้วยการไปเยี่ยมเยียนถึงบ้านแล้ว ก็น่าจะทำให้เกษตรกรลืมตาอ้าปากกันได้มากขึ้นกว่าเดิม